000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > ปกิณกะ > การบันทึกเสียงเพลงไทย...ทำให้ดีก็รอดได้
วันที่ : 29/01/2016
7,233 views

การบันทึกเสียงเพลงไทย...ทำให้ดีก็รอดได้ (ถ้าคิดจะทำอัลบั้มเพลง...ต้องอ่าน)

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

การสร้างผลงานเพลงสักอัลบั้ม ปัจจุบันถ้าจะให้ประสบผลสำเร็จจะต้องประกอบด้วย 3 ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ

       1.    คุณภาพของตัวเพลงเอง(PERFORMANCE) ได้แก่ เนื้อร้อง, ทำนอง และดนตรี

       2.    คุณภาพการบันทึกเสียง(RECORDING)

       3.    การประชาสัมพันธ์(PROMOTON)

คุณภาพตัวเพลง(PERFORMANCE)

       เพลงที่จะประทับใจและกินใจอย่างยั่งยืน ต้องมีคำร้องที่ลึกซึ้งแต่ฟังง่าย ยิ่งถ้าคิดตื้นๆก็เข้าใจได้ ถ้าคิดลึกๆยิ่งทราบซึ้งถึงแก่น ยิ่งดี และจะดีที่สุดถ้าเนื้อเพลง เรื่องราว ออกมาแบบสาธารณะ เป็นสิ่งที่ใครๆก็ต้องพบต้องสัมผัส ไม่ใช่แค่เรื่องเฉพาะของใครบางคน(ปัจเจกชน) เช่น เรื่อง ชีวิตชาวกรุงที่ต้องดิ้นรน ชีวิตชาวนาที่ด้อยโอกาส การเป็นทาสวัตถุนิยมแบบเศรษฐีเงินผ่อน ชีวิตรถติด ฯลฯ  ย่อมได้รับแนวร่วมมากกว่าเรื่องราวชีวิตของใครสักคนที่รักผัวเขา หรือเรื่องของรักคุดตุ๊ดเมิน อะไรทำนองนั้น ซึ่งกรณีนี้ เพลงไทยเก่าๆที่อมตะข้ามยุคข้ามสมัย ไม่ขึ้นกับกาลเวลา เป็นตัวอย่างที่ดี อย่างเพลงชายสามโบสถ์, แม่ศรีเรือน, ชีวิตชาวนา, ตารางดวงใจ, ป่าลั่น ฯลฯ หรือ ทันสมัยหน่อยก็ เมดอินไทยแลนด์, ราชาเงินผ่อน ฯลฯ เพลงพวกนี้จริงๆไม่มีวันตาย ถ้านำมาร้องดีๆยิ่งขึ้น(โดยไม่ “ดัดจริต” จนเกินงามหรือ OVER ACTION อย่างนักร้องหนุ่มสาวสมัยใหม่ที่นำเพลงอมตะเก่ามาร้อง) ใส่ดนตรีแบบวงใหญ่ ครบเครื่อง เล่นดีๆ บันทึกดีๆระดับออดิโอไฟล์ เรื่องจะไม่ดังคงยาก

       น่าเสียดาย หรือพูดให้ถูกคือ น่าเศร้าปนสังเวชที่ปัจจุบัน ผู้แต่งเพลง(ไทย) อยากรวยลัด โดยการแต่งเพลงเนื้อร้อง 2 แง่ 2 ง่าม หรือหาคำพูดท้องถิ่นแปลกๆ หาวลีวัยรุ่นเพี้ยนๆ มาสร้างความแปลกหู เพื่อดึงดูดความสนใจ ผลคือ ใหม่ๆก็ได้ผล เพลงพวกนี้จะดังเร็ว(เกิดจากการโปรโมทหนักด้วย) ติดหูเร็ว ขายได้ดี แล้วก็จบ ปิดม่านไปอย่างเร็ว เมื่อใครๆก็หันมาแนวนี้ คนฟังก็เริ่มเบื่อ เพราะมันตื้นเขินเหลือเกิน ฟัง 2 ทีก็เลี่ยน ผลคือ มุขนี้ด้าน ใช้ไม่ได้อีกต่อไป

        ในด้านทำนอง มีทั้งท่วงทำนองที่ลอกจากเพลงต่างประเทศ ทั้งจีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น,  แม้แต่เวียดนาม ก่อนหน้านี้จะอิงกับค่ายฝรั่งมากกว่า ช่างน่าไม่อายเลย คิดเองไม่เป็น

       ดนตรีจากเมื่อก่อนใช้วงดนตรีจริงๆ คนเล่นจริงๆ บันทึกทีก็เล่นพร้อมกัน “ทั้งวง” และ “เดี๋ยวนั้น(REAL TIME)” ซึ่งนักร้อง(ร้องไปพร้อมๆกับวง) มันจึงให้การสอดรับที่เป้นธรรมชาติ ได้อารมณ์(คล้องจอง)ที่สุด ดนตรีแต่ละชิ้นที่โยนลูกล่อชนกันเอง เสียงร้องที่กลืนอารมณ์กับตัวดนตรีที่สุด

       แต่ปัจจุบัน แทบไม่มีใครบันทึกอย่างนี้อีกแล้ว อ้างว่าต้นทุนสูง แต่เอาเงินไปทุ่มกับค่าเชียร์ ค่าโปรโมทแบบไร้สาระได้ เวลาบันทึก จะบันทึกดนตรีแต่ละชิ้นแยกร่องเสียง(TRACK) มี 10 ชิ้นก็แยก 10 ร่องเสียง อาจเริ่มด้วย 2-3 ชิ้นเล่นด้วยกัน(แยก 2-3 ร่อง) ชิ้นที่เหลือๆมาเล่น “เติม” ทีหลัง ทีละชิ้นๆ(อาจใช้นักดนตรีแค่ 2-3 คน เล่น 10 ชิ้น) นักดนตรีแทบไม่เคยพบหน้าค่าตากันเลย ส่วนนักร้องก็มาร้อง “เติม” เอาทีหลัง อาจร้องเดี่ยว หรือร้องคู่ เสียงร้องประสานฉากหลัง บางทีใช้คนเดียวร้องแต่ใช้เครื่องอีเล็คโทรนิคส์สร้างเสียงประสานซ้อน ให้เป็นหลายๆคน

       การบันทึกแบบแยกร่องเสียงอย่างนี้เรียก MULTI TRACK เป็นที่นิยมตั้งแต่เมื่อ 40 ปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบัน(ก่อนหน้านี้เป็นแบบแรกคือ สดๆเดี๋ยวนั้น พร้อมๆกัน)

       ผลของการบันทึกแบบ MULTI TRACK คือ ความ “กร่อย” ของอารมร์เพลง หรือความ “สับสน” ของอารมณ์นักดนตรีแต่ละคน(แต่ละชิ้น), ของนักร้อง(แต่ละคน) ฟังแล้วเหมือน ต่างคนต่างร้อง ต่างคนต่างเล่น เล่นกัน ร้องกันให้มันจบๆไป ความลึกซึ้งดื่มด่ำแทบไม่มีเหลือ คนฟังต้องสร้างจินตนาการ(ฝืดๆ)เอาเอง

       การบันทึกเพลงไทย(และส่วนใหญ่ของเพลงนอก)ทั้งหมด ใช้วิธีการ “ต้มยำกุ้ง” แบบนี้

       อย่าว่าแต่ดนตรีเลย แม้แต่ “เสียงร้อง” ก็ยัง “ตัดต่อ, ปะผุ, จับแพะชนแกะ” ร้องผิดคำไหน, วลีไหน, ประโยคไหน หรือตกม้าตายตรงไหน ก็เลาะเซาะตรงนั้นออก แล้วร้องช่วยเติมเข้าไปใหม่ แทนที่จะร้องใหม่ทั้งเพลง แล้วอย่างนี้อารมณ์คนฟังไม่สะดุด ชักกะตุกได้อย่างไร!

       ที่ร้ายกว่านั้น นอกจากบันทึกแบบ MULTI TRACK แล้ว ดนตรีแต่ละชิ้นแทบทั้งหมด เล่นด้วย “เสียงสังเคราะห์” จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งต่อให้แต่งเสียงดีเลิศอย่างไร มันก็ยังฟังออกว่า “เสียงเก๊” ที่มีแต่เสียง แต่ไร้ความหลากหลายของฮาร์โมนิกส์ที่ซับซ้อน เป็นเสียง “หุ่นยนต์” อยู่ดี ถ้าเรียบเรียงประสานดี คนเล่นดี ก็อาจพอกล้อมแกล้ม ฟังแล้วพยายาม “หลอกตัวเอง” ไปได้บ้าง แต่มักเรียบเรียงแบบ “ไร้ชั้นเชิง” เล่นแบบ “ไร้อารมณ์” ผลคือ ฟังแล้ว “โยนทิ้ง” สถานเดียว

       แผ่น VCD, DVD คาราโอเกะ 99% ทำเพลง, ดนตรี แบบ “หุ่นยนต์” นี้ คงหวังให้ “ขี้เหล้า”  หูตะกั่วฟังเท่านั้น

คุณภาพการบันทึกเสียง(RECORDING)

       ไม่น่าเชื่อว่า เรามีโรงเรียนสอนเทคนิคการบันทึกเสียงขนาดเล็กๆ 2-3 แห่ง, ขนาดใหญ่ 1 แห่ง เรามีสตูดิโอห้องบันทึกเสียงที่ “คุย” ว่าระดับโลกนับสิบ ไม่นับห้องเล็กๆประเภท “ข้ามาคนเดียว” อีกเป็นร้อย แต่ไม่น่าเชื่อว่า ร่วม 40 ปีที่ผมฟังอัลบั้มเพลงไทยมานับพัน ทั้งลูกทุ่ง ลูกกรุง เก่า, ใหม่ วัยรุ่น 99.99% ไม่มีอัลบั้มไหนที่บันทึกเสียงถูกต้อง เป็นผู้เป็นคน” เลย เหมือนพวกเขาฟังไม่เป็น(อย่าว่าแต่อัลบั้มเพลงไทยเลย เพลงฝรั่ง, จีน, ญี่ปุ่น 70% ก็เละไม่แพ้อัลบั้มไทย แม้แต่อัลบั้มนอกที่คุยว่า เป็นแผ่นหูทอง(ออดิโอไฟล์) ขายกันแพงๆ 500-1500 บาท 50% ไม่เห็นได้เรื่อง ถ้าไม่เสียงบางหรือจัด ก็ตื้อ, อั้น กดการสวิงเสียงไว้)

       แสบกว่านั้รคือ เจ้าของผลงาน(ที่เรียกเสียหรูว่า PRODUCER หรือ นายทุน) ชอบยืนบงการ “ช่างเสียง” ให้ตัดแต่งเติมเสียงให้ “เน่าๆ” ตามที่ตัวต้องการ ที่พบบ่อยคือ เสียงที่แจ๋น, จัดจ้าน หรือฉูดฉาด และที่ขาดไม่ได้เอาเลยคือ กดการสวิงเสียง(COMPRESS) ทุกๆเสียงในเพลง ดังพอๆกันไปหมด อื้ออึง สับสน มั่ว เจี้ยวจ้าว รวมทั้ง “หามิติเสียง” ไม่ได้ ไม่ว่าเพลงจากค่ายเล็ก, ค่ายใหญ่คับฟ้า โดยเฉพาะค่ายใหญ่ๆที่มีพร้อมทั้งศิลปิน, ครูเพลง, ห้องบันทึก เงินทุนเงินถัง กับบันทึกทำแผ่น CD ออกมาได้ “เลวอย่างไม่น่าเชื่อ” ก็ไม่รู้ว่า ช่างเสียงหูตะกั่วหรือนายทุนหูตะกั่ว

       ในการทำแผ่น ปั๊มแผ่น CD เหมือนกัน เพื่อนนักดนตรี(พ่อรวยมาก)(คนนี้เป็นนักฟังเสียงตัวยง) อุตส่าห์ทำอัลบั้มออกมาอย่างตั้งใจมาก ขนาดชุดกลาง/ฉาบ ลงทุนซื้อยี่ห้อดีที่สุดในโลก ชุดหนึ่งหกแสนบาท(วงทั่วไปห้าหมื่นก็สุดหรูแล้ว) ยังไม่นับชิ้นอื่นๆ เขาว่า ตัวมาสเตอร์(MASTER) ดีทีเดียว แต่พอปั๊มแผ่นออกมาอยากร้องไห้ ลงทุนเป็นล้านบาท(ไม่นับค่าเครื่องมือ) เขาสาปส่งวงการปั๊มแผ่นเลย

       ถามเพื่อนที่กำลังหาห้องบันทึกเสียงดีๆ เขาบอกว่า เพื่อนเขาเองที่เป็น DJ และทำอัลบั้มเพลงด้วย ตระเวนลองห้องบันทึกไปทั่วแล้ว สรุปว่า ไม่มีห้องบันทึกเสียงไหนในประเทศไทย ที่เสียงดีเลย บางวงในบ้านเราถึงกับต้องบินไปบันทึกที่ฮ่องกง, สิงคโปร์(ซึ่งเอาเข้าจริง ผมก็ไม่เชื่อว่าจะดี ฟังจากอัลบั้มเพลงจีนจากฮ่องกง, สิงคโปร์ กี่อัลบั้ม แพงแค่ไหน การบันทึกก็ไม่เห็นว่าจะเลอเลิศอะไรนักหนา)

       ปัจจุบันที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการตัดต่อเสียง ใช้เครื่องผสมเสียง(MIXER) แบบดิจิตอล (บางทีใช้โปรแกรมคอมพ์แทน MIXER) มีจอ LCD ในห้องบันทึก สิ่งเหล่านี้ล้วนล้างผลาญคุณภาพเสียงทั้งนั้น ไม่ว่า สุ้มเสียงที่เป็นเสียงโทนเดียวกันไปหมด(ไม่ว่านักร้องคนไหน, ดนตรีอะไร) ความกังวานที่ “แห้ง” (ไม่ฉ่ำพริ้วมี SPACE) ทรวดทรงนักร้อง, นักดนตรี, ห้องบรรเลงที่แบน, ตื้น ไม่มีมิติใดๆ ทั้งหมดนี้ยิ่งทำลายคุณภาพการบันทึกลงไปอีก ผมไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยี่ดิจิตอล แต่มันเหมือน “ม้าดีที่ขี้พยศ” ต้อง “ปราบ” มันเป็น ไม่ใช่สักแต่ใช้ เพียงเพราะมัน “ทำงานง่าย” กว่าระบบอนาลอก ก็เหมือนเครื่องเล่น CD มีตั้งแต่ เสียงหุ่นยนต์ จนถึงเสียงจานเสียงอาย ผมเคยฟังการบันทึกทำมาสเตอร์ระบบดิจิตอลลงหน่วยความจำเมื่อ 20 ปีเศษมาแล้ว เสียงโคตรอนาลอก พูดง่ายๆว่า เหมือนฟังจากของจริงสดๆเลย นั่นคือ เขาใช้อย่างรู้งาน

       ปัจจุบัน ห้องบันทึกเสียงแบบดิจิตอล 99.99% มิใช่เพื่อการพัฒนาคุณภาพการบันทึก หากแต่เพียงเพราะมัน “ทำงานง่ายกว่า” โยนการตัดต่อที่เนียนไปให้คอมพ์ทำแทน ตัวเองไม่ต้องมีฝีมือระดับเทพแต่อย่างไร พูดง่ายๆ ช่างเสียง ปัจจุบันขอแค่ใช้เครื่อง(โปรแกรม)เป็นก็ออกบินแล้ว ไม่ได้สอน “การฟัง” ที่ถุกต้องจริงๆ ว่าไปทำไมมี คนสอนเองฟังเป็นจริงหรือเปล่า ก็ยังสงสัย พูดได้เป็นตุเป็นตะตามตำราอย่างนกแก้วนกขุนทอง แต่ฟังไม่เป็นหรอก ใครที่คุยว่าแน่จริง กล้าส่งผลงานมาให้นักวิจารณ์เครื่องเสียงทดสอบวิจารณ์บ้างหรือไม่อย่างไร

       ดังนั้น ใครที่คิดจะใช้บริการห้องบันทึกเสียงระบบดิจิตอล โดยคิดว่า ชื่อมันดูไฮเทคดี จริงๆแล้วปัจจุบัน พวกนี้ต้นทุนทำห้องอัดถูกกว่าระบบอนาลอกดีๆมากมายนัก แถมการทำงานก็ง่ายกว่ามาก ว่าไปแล้ว ราคาค่าบริการควรจะถูกลงมากเมื่อเทียบกับห้องแบบอนาลอกดีๆ

       อย่างไรก็ตาม มันก็น่าเห็นใจห้องบันทึกเสียง ใครลงทุนทำดีๆวันนี้ มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง เพราะลูกค้าที่มาใช้บริการเอาแต่ต่อราคาลูกเดียว ทั้งต่อราคานักดนตรี, ผู้เรียบเรียง, ผู้แต่ง แต่กลับหงอกับนักร้อง(ดังๆ ที่บางครั้งดังอย่างโง่ๆไม่ยั่งยืน) และยอมทุ่มกับค่าโปรโมทเท่าไรเท่ากัน

       ห้องบันทึกที่ดีๆ เน้นคุณภาพเสียงจริงๆระดับออดิโอไฟล์ ผมเชื่อว่า จะสามารถอยู่ได้(อย่างมีศักดิ์ศรี) แต่ต้องกินไกล มีหน้าตักมากพอ(พูดง่ายๆ พ่อแม่ต้องโคตรรวยแล้วลูกชอบเสียงดีๆ ทำแบบเอามันส์) ซึ่งในระยะยาว จะโด่งดังระดับโลกได้ และอยู่ได้ เรียกราคาได้ ลูกค้าต้องเข้าคิวจอง ผมหวังจริงๆที่จะได้เห็นห้องบันทึกที่มีคุณภาพ ดีที่สุดในโลก ในบ้านเรา(ขอยืนยันว่า ดีที่สุดในโลก ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องแพงที่สุด หรือทุ่มทุนมหาศาลแต่อย่างไรเลย ขอแต่ มีหูระดับออดิโอไฟล์จริงๆ และเป็นงาน เก็บรายละเอียดทุกเม็ด และพ่อโคตรรวยเท่านั้น.....ระบิดแน่)

       ถามว่า มีความจำเป็นด้วยหรือที่ต้องเน้นการบันทึกเนี้ยบๆสำหรับงานนายทุน คิดอย่างเดียวว่า บันทึกเน่าๆอย่างไรก็ขายได้ ขอให้โปรโมทถึงๆ บางคนถึงขนาด จงใจบันทึกเน่าสุด เพื่อให้พวกทำเทปผี, ซีดีเถื่อน จะได้มีต้นฉบับเน่าๆไปทำ ก๊อปปี้ออกมาจะได้ “เน่าสนิท” หรือบางนายทุน จงใจบันทึก(ปั๊มแผ่น)แบบกดการสวิงเสียงไว้เต็มที่เพื่อสะดวกในการเปิดบริการ โหลดเพลงทางสาย, ทางโทรศัพท์มือถือ

       ย้อนกลับมาคำถามเดิมเรื่องคุณภาพการบันทึก(ปั๊มแผ่น)ที่ดีๆ จำเป็นไหม?

       คำตอบ ขึ้นอยู่กับว่า คุณอยากขายอัลบั้มนั้นไปนานตลอดกาลหรือไม่ ถ้าคุณผลิตผลงานเพียงเพื่อ “เพิ่มขยะ” อีก 1 อัลบั้มในตลาด ไม่คำนึงถึง คุณภาพ “ตัวเพลง(PERFORMANCE)” ที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็ป่วยการที่จะมาเน้นคุณภาพการบันทึกอะไรอีก คิดแต่อาศัยการโปรโมทถึงๆ ก็คงมีนักฟังโชคร้ายสักกลุ่มหลวมตัวซื้อไปฟัง เพียงเพื่อสาปส่งคนทำอัลบั้ม ยอดขายก็คงมีอยู่แค่นั้น แล้วก็จบ ขายไม่ได้อีกต่อไป สุดท้าย พวกรับจ้างโปรโมทรวย คนทำเจ๊ง

       แต่ถ้าคุณทำอัลบั้มโดยเน้นคุณภาพเพลง คุณภาพนักดนตรีและนักร้อง(ที่คุณภาพดีจริง ไม่ใช่เพราะกำลังฮอต) คุณภาพการบันทึกเสียง คุณภาพการปั๊มแผ่น คุณจะกินได้ไกล อาจไม่ดังโครมครามข้ามคืน(แล้วก็ดับร่วง ไม่กี่อาทิตย์ต่อมา) แต่จะขายได้เรื่อยๆตลอดไป คำว่าตลอดไปคงเข้าใจนะครับ คือ น้ำซึมบ่อทราย กินกนไม่จบ ใครซื้อไปฟังก็ปากต่อปาก เชียร์ให้เพื่อนซื้อ ยิ่งถ้าขายไม่แพงนัก แต่เน้นคุณภาพบรรจุด้วย มีหนังสือแนะนำ แจกแจงการทำ การบันทึกให้ดูดี น่าซื้อเก็บเป็นของสะสมเป็นตำนาน(COLLECTION) ก็ไม่ต้องกังวลกับ CD ผีทั้งหลาย มีเพลงไทยหลายอัลบั้มที่ไม่ดังหวือหวา แต่เนื่องจากเป็นงานคุณภาพ(อาจไม่ครบทุกองค์ประกอบ) ขายดีอย่างเงียบๆ ไม่เคยมีการโฆษณาแม้แต่น้อย ปรากฏว่า ขายกันอยู่เกือบ 10 ปี ถามนักฟัง ใครๆก็ซื้อเก็บ คิดดูว่าโกยไปเท่าไร มีอัลบั้มโปรโมทหนักกี่อัลบั้มกันที่สามารถดังข้ามปีได้ ทำไมอัลบั้มเพลงไทยอมตะขายกันอยู่ได้ 20-30 ปี ทุกวันนี้ก็ยังขายได้ ขนาดว่าบันทึกไม่ค่อยดี ก็เพราะคุณภาพของตัวเพลงเองแท้ๆ

       ก่อนหน้านี้ บ่นกันว่า ทำอัลบั้มดีไปก็เท่านั้น จะขายได้สักกี่แผ่นกัน แต่ในยุค IT สมัยใหม่ ถ้าคุณทำของดีจริง ระบบการขายแบบปาก-ต่อ-ปาก(WORDS TO MOUTHS) ในเครือข่ายอินเตอร์เน็ตมันทรงอิทธิพลสูง ลองมีคนแชทเข้าไปว่า อัลบั้มนี้สุดยอด คนเดียวอาจไม่มีใครสนใจ แต่ถ้ามีคนแชทเข้าไปชมสัก 10-30 คน เท่านั้นล่ะ เป็นเรื่องเลย พลังของสังคม ONLINE น่าตกใจและก่อให้เกิดปาฏิหาริย์ได้ไม่ยาก จะมีคนยอมจ่ายเงินดาวน์โหลดเป็นหมื่นเป็นแสนคนได้แค่ชั่วข้ามคืน เหมือนกรณีของ ซูซาน บอยส์(นักร้องโนเนมที่ดังที่สุดในโลก) แค่ 3-4 วัน คนเปิดเข้าไปชมคลิปวิดิโอประกวดของเธอเป็นล้านๆคน

       นั่นหมายความว่า งบประมาณการโปรโมทไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นนักอีกต่อไป การนำงบตรงนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งไปเพิ่มให้แก่การทำมาสเตอร์ อีกส่วนไว้หล่อเลี้ยงดอกเบี้ยขณะค่อยๆขายไปเรื่อยๆ รอปาฏิหาริย์ที่มีจริงจากสังคม ONLINE ถ้าผลงานคุณดีจริง ความสำเร็จวิ่งมาชนคุณอย่างแน่นอน

       บางคนบอกว่า ทำดีไปทำไม เด็กรุ่นใหม่มันฟังไม่เป็นหรอก วันๆฟังแต่เสียงเน่าๆจาก MP3 พวกนี้ไม่สนใจศิลปอะไรหรอก ขอให้มีเสียง(กระทุ้งๆ) รูหูแก้เหงา(เงียบ) ก็พอ ไม่ได้หวังอะไรกว่านี้

       พูดอย่างนี้มันก็ถูกเป็นบางส่วน แต่ไม่ทั้งหมด อย่าดูถูกว่าเด็กรุ่นใหม่หูตะกั่วไปหมด ลองมีของดีจริงให้พวกเขาฟัง มีหรือที่พวกเขาจะปฏิเสธ ผมเชื่อว่า โดยธรรมชาติ มนุษย์ทุกคนรู้ว่า รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ดี ที่เลว ต่างกันอย่างไร โดยไม่ต้องสอนกัน และแน่นอน ทุกคนชอบสิ่งที่ดีกว่าอยู่แล้ว และเอนเอียงไปสู่สิ่งนั้น ถ้า “ราคา” เท่ากัน มีหรือที่พวกเขาจะไม่เฮไปหาสิ่งที่ดีกว่า ผมจึงเชื่อว่า ของดี ก็จะยังขายได้ และก้าวข้ามของเลว อย่างที่เรียนแต่ต้นในเรื่องของสื่อ ONLINE และการดาวน์โหลด ถ้ามียอดผู้ใช้สูงมากพอแล้ว จะถึงจุดที่ ของดีที่ต้นทุนสูงกว่าของเลว ความแตกต่างของต้นทุน จะถูกละลายหายไปกับ “จำนวนผู้ใช้บริการ” ก็เหมือนสินค้าที่ผลิตที่จะจำนวนมหาศาลจากจีน อย่างเครื่องเล่น DVD ที่ “เคย” ผลิตและส่งออก โรงงานดังๆยอดส่งออกเดือนล่ะเกือบ 200,000 เครื่อง-500,000 เครื่อง โรงงานเล็กๆเป็นล้านเครื่อง เมื่อหารกับต้นทุนค่าออกแบบ, ค่าวิจับ, ค่าแม่พิมพ์ มันเกือบจะเป็น 0(ศูนย์) พวกเขาจึงเปลี่ยนรุ่นได้แทบทุก 3 เดือน

       นี่คือทางออกที่สวยที่สุด ชองสินค้าคุณภาพ ไม่ว่าอะไรก็ตาม ใครจับประเด็นนี้ได้ก็จะรอด และถึงขึ้นฝั่งได้ ใครยังมัวหลงกับความเชื่อเก่าๆแห่ง “ต้นทุนแห่งคุณภาพ” ก็จะต้องสูญสิ้นไป

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459